การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของ Nations Cup ที่ต้องจารึกในหน้าประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง!
Gran Turismo World Series 2024 รอบที่ 2 - Nations Cup
ปราก สาธารณรัฐเช็ก — วันที่ 10 สิงหาคม Gran Turismo World Series 2024 ย้ายไปยังปราก สาธารณรัฐเช็ก เพื่อจัดอีเวนต์สดครั้งที่สองของฤดูกาล ณ โรงละคร Divadlo Hybernia อันโด่งดัง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองประวัติศาสตร์ที่งดงามดุจภาพวาดแห่งนี้ หลังจากการแข่งขัน Manufacturers Cup อันน่าตื่นเต้นในวันก่อนหน้า สายตาทุกคู่ก็หันมาสู่ Nations Cup ที่เหล่านักแข่งตัวท็อป 12 คนของโลกจะมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในฐานะตัวแทนประเทศและดินแดนบ้านเกิดของตัวเอง ทั้งนี้ ฤดูกาลนี้เป็นหมุดหมายแห่งการกลับมาเป็นการแข่งขันแบบเดี่ยว ที่เหล่านักแข่งชั้นแนวหน้าที่มาจากรอบคัดเลือกออนไลน์ ต้องมาประชันกันในอีเวนต์สดสามรอบของ World Series คือที่มอนทรีออล ปราก และโตเกียว ก่อนจะไปตัดสินกันใน World Finals ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และรอบนี้ก็เหมือนรอบก่อน อีเวนต์ที่ปรากไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะอาจเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่คู่คี่สูสีที่สุดที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้!
การแข่งสปรินต์เรซ: ไอเกอร์ นอร์ดวันด์
แม้รอบนี้จะไม่มีคะแนนให้ชิงกัน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดตำแหน่ง ณ เส้นออกตัวให้รอบชิงชนะเลิศ จึงถือเป็นการแข่งขันครั้งสำคัญในรอบที่ 2 ของ Nations Cup สถานที่จัดการแข่งสปรินต์เรซก็คือสนามไอเกอร์ นอร์ดวันด์ที่ Gran Turismo สร้างขึ้นมา โดยนักแข่งจะขับ 1965 Honda RA272 รถ Formula 1 คันตำนานที่ประดับลายตกแต่งตามประเทศของตนเอง งานนี้ สายตาทุกคู่ล้วนจับจ้องไปยัง Takuma Miyazono (Kerokkuma_ej20) จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งคว้าแต้มต้นฤดูกาลขึ้นนำมาด้วยชัยชนะอันน่าประทับใจในมอนทรีออล แต่อย่างไรก็ดี ศึกนี้ยังอีกยาวไกล เพราะ Valerio Gallo (OP_BRacer) จากอิตาลีผู้เป็นอดีตแชมป์ Nations Cup และสองขาโหดจากสเปน คือ Coque López (coquelopez14) กับ Jose Serrano (TDG_JOSETE) ต่างก็จ้องจะสางแค้นจากรอบแรกกันอยู่
ท่ามกลางสภาพอากาศที่ค่อนข้างมีหมอก เหล่าตำนานรถล้อเปิดก็ระเบิดความเร็วบนถนนท่ามกลางทิวทัศน์งดงาม ณ ความสูงเกือบ 6,500 ฟุต ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจที่รถ Formula 1 ญี่ปุ่นมาประชันความเร็วกันบนสนามในเขตเทือกเขาสวิสเช่นนี้จะเห็นได้ก็แต่ใน Gran Turismo เท่านั้น จากตำแหน่งโพลโพซิชัน Miyazono นำฝูงสู่โค้งที่หนึ่งอย่างเชี่ยวชาญไปพลางกัน Gallo ซึ่งออกตัวในอันดับที่ 2 เพียงไม่นานก็ได้เห็นกันจะๆ ว่า รถล้อเปิดกับกำลัง 232 แรงม้านั้นเอาอยู่ได้ยากบนทางที่ทั้งแคบและคดเคี้ยว เพราะนักแข่งหลายคนมีอันต้องถูไถไปกับแนวกั้นขณะมุ่งหน้าสู่โค้งที่ 7
Calen Roach (CalenJRoach) จากสหรัฐฯ เปิดฉากแซงแต่เนิ่นๆ อย่างน่าประทับใจด้วยการขึ้นมาเป็นที่ 3 ส่วนที่เหลือกันในสนามยังสงวนท่าทีไม่ออกลีลาอะไร อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเป็นการแข่งที่มีแค่เจ็ดแล็ป ก็ไม่มีเวลาให้มาเงื้อง่าราคาแพงกันแล้ว Takuma Sasaki (SZ_TakuAn22) นักแข่งจากญี่ปุ่น ที่ทีแรกออกตัวในอันดับที่ 3 สามารถชิงตำแหน่งคืนมาหลังการแข่งขันคืบหน้าไปได้ไม่นาน และเมื่อผ่านไปได้ครึ่งทาง Miyazono กับ Gallo ก็เริ่มทิ้งห่างจากฝูง ด้วยการควบคุมรถน้ำหนักเบาปราดเปรียวไปตามความท้าทายของสนาม 11 โค้งอย่างเก่งกาจ ทว่าเรื่องที่พลิกความคาดหมายก็คือ López กับ Kylian Drumont (R8G_Kylian19) นักแข่งจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวเต็งจากช่วงก่อนเริ่มฤดูกาล ต้องรั้งท้ายอยู่ที่ 11 และ 12 ตามลำดับ
เมื่อการแซงในสนามนี้เป็นเรื่องยากสำหรับรถเหล่านั้น อันดับในการแข่งขันจึงแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะทางที่เหลือ แต่แล้วไคลแม็กซ์ระทึกใจได้มาถึง เมื่อ Gallo ทุ่มสุดตัวครั้งสุดท้ายเพื่อขึ้นแซง Miyazono ในโค้งสุดท้ายของแล็ปสุดท้าย แต่ Miyazono นั้น ถึงจะแทบควบคุมรถที่ส่ายเป็นหางปลาเข้าเส้นชัยไม่ไหว ก็ยังยืนหยัดคว้าชัยชนะมาได้แม้จะยากลำบากก็ตาม
รอบชิงชนะเลิศ: ดราก้อนเทรล
ตะวันบ่ายฉายดวงเจิดจ้า สนามแข่งดราก้อนเทรล – ซีไซด์พร้อมสำหรับการแข่งขันอันจะกลายเป็นรอบชิงชนะเลิศที่ตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการแล้ว การแข่งขันกัน 32 แล็ปนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการนำความเร็วมาประกวดประขัน แต่ยังเป็นการประชันกลยุทธ์หลังพวงมาลัยด้วย งานนี้มียางให้เลือกสามแบบ คือ เนื้อแข็ง เนื้อปานกลาง เนื้ออ่อน และนักแข่งต้องใช้ยางอย่างน้อยสองแบบในการแข่งขัน การเข้าพิตจึงกลายเป็นหมากตัวสำคัญไปในการนี้ และบนสนามนั้น นักแข่งทั้ง 12 คนที่อยู่บนรถแข่ง Red Bull X2019 Competition เหมือนกัน ต่างกำลังเตรียมพร้อมทำศึกบนสนามออริจินัลของ Gran Turismo ที่ทั้งความเร็วสูงลูกเล่นเยอะ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งอันงดงามของเซอร์เบียนั่นเอง
แถวหน้าของเส้นออกตัวนั้นมีตัวเต็งจากญี่ปุ่น Takuma Miyazono (Kerokkuma_ej20) ผู้คว้าตำแหน่งโพลโพซิชันมาได้ด้วยความเก่งกาจในการแข่งสปรินต์เรซ ส่วนที่อยู่ต่อจากเขาก็คือ Valerio Gallo (OP_BRacer) จากอิตาลีที่ความเร็วไม่เคยตก และผู้ที่ออกตัวในอันดับที่ 3 ก็คือ Takuma Sasaki (SZ_TakuAn22) จากญี่ปุ่น ที่จ้องจะทำคะแนนจากชัยชนะครั้งแรกในรายการแข่งให้ตัวเอง แต่เซอร์ไพรส์ของจริงนั้นอยู่ท้ายเส้น แชมป์ Nations Cup สองสมัย Coque López (coquelopez14) จากสเปน ต้องอยู่ในอันดับแปลกตาอย่างที่ 12 ในขณะที่ตัวเต็งช่วงก่อนเริ่มฤดูกาล Kylian Drumont (R8G_Kylian19) จากฝรั่งเศส ติดอยู่ ณ อันดับที่ 10
เมื่อไฟเขียวปรากฏ รถทุกคันก็ออกตัวแบบโรลลิ่งกันไปสวยๆ โดยต่างทะยานสู่โค้งแรกกันอย่างแม่นยำ งานนี้ ใครค่อใครต่างเริ่มแข่งกันด้วยยางเนื้อปานกลาง เว้นก็แต่ López ซึ่งอยู่อันดับสุดท้าย ที่เลือกใช้ยางเนื้ออ่อน เพราะรู้ว่าตัวเองต้องตะกายไต่อันดับ และเดิมพันของเขาก็ให้ผลตอบแทนแทบทันควัน เพราะเมื่อจบแล็ปแรก เขาก็ขยับสี่อันดับขึ้นไปอยู่ที่ 8 ทำให้บรรยากาศในการแข่งขันพร้อมจะดุดันขึ้นมาทันที
แล็ปต้นๆ นั้นยังไม่มีอะไรโจ่งแจ้ง ในแล็ปที่ 2 Guy Barbara (OP_Twitchy) จากออสเตรเลีย ส่ายไปสะกิด López จนตัวเองรถหมุนร่วงไปอยู่อันดับสุดท้าย จากนั้นไม่นาน นักแข่งอเมริกัน Robert Heck (OP_RobbyHeck) ก็หมุนคว้างไปอีกคนด้วยแรงสะกิดของ Adriano Carrazza (Didico__15) จากบราซิล และนั่นถือเป็นลางบอกเหตุของสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ขณะเดียวกัน Kaj de Bruin (R8G_Kajracer) จากเนเธอร์แลนด์ซึ่งออกตัว ณ อันดับที่ 6 ก็ใส่เดี่ยวไม่มีเอี่ยวกับใคร จนพอถึงแล็ปที่ 5 เขาก็ไปงัดกับ Miyazono ผู้กำลังกระเสือกกระสนรักษาความเร็วที่ทำไว้ ด้าน López นั้นยังคงทะยานเป็นจรวดอย่างต่อเนื่อง โดยแซง Miyazono ขึ้นไปเป็นที่ 3 แล้วก็กลายเป็นที่ 2 ในแล็ปที่ 6 แผนออกตัวด้วยยางเนื้ออ่อนของเขานั้นเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว
เมื่อถึงแล็ปที่ 8 López กับยางที่เริ่มสึกก็สวมหัวใจสิงห์แซงขึ้นไปเป็นจ่าฝูง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่าอัศจรรย์มากเมื่อคิดว่าเขาออกตัวเป็นอันดับสุดท้าย แต่ความได้เปรียบของเขานั้นอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะพอแล็ปที่ 9 เนื้ออ่อนๆ ของยางก็สึกจนแทบไม่เหลือ ทำให้ López ต้องเข้าพิตไปเปลี่ยนเป็นยางเนื้อปานกลาง และเมื่อกลับสู่สนาม ศึกที่แนวหน้านั้นก็เข้มข้นเสียแล้ว เพราะอันดับที่ 4 ถึง 8 นั้นห่างกันแค่ไม่กี่วินาที และนักแข่งทั้งเจ็ดก็ล้วนอยู่ในระยะที่จะเข้าจู่โจมจ่าฝูงได้ โดยมีทั้ง Miyazono, de Bruin, Sasaki, Angel Inostroza (Veloce_Loyrot) จากชิลี, Carrazza, Gallo และ Drumont ที่แซงกันไปมาขณะแลกสปีดกันด้วยความเร็ว 300 กม./ชม.
พอถึงแล็ปที่ 11 Inostroza ก็เข้าพิตเปลี่ยนเป็นยาง Michelin เนื้ออ่อน ตามด้วย Michelin และ Carrazza ที่เข้าพิตไปในแล็ปที่ 12 เพราะแผนการเดินหมากเผยโฉมออกมาแล้ว เหล่าจ่าฝูง ซึ่งประกอบด้วย Miyazono, Gallo, Calen Roach (CalenJRoach) จากสหรัฐฯ และ Drumont ต่างเข้าพิตในแล็ปที่ 14 ทุกคนเปลี่ยนไปใช้ยางเนื้ออ่อนเพื่อการแข่งขันช่วงสุดท้าย ทว่า Sasaki ยังคงเดิมพันกับการรีดเร้นแล็ปเพิ่มด้วยยางเนื้อปานกลาง เพราะตั้งใจใช้แผนเข้าพิตครั้งเดียว ซึ่งนั่นเป็นการตัดสินใจที่ราคาแพงมากเห็นๆ เพราะเวลาแล็ปของเขาตกลง และฝูงก็ไล่ตามกระชั้นมา
พอถึงแล็ปที่ 15 การแข่งขันก็พลิกผันอย่างร้ายกาจอีกครั้ง Inostroza ซึ่งอยู่ในอันกับที่ 3 อัดหนักเพื่อขึ้นแซง López เขาพยายามเล่นวงนอกหลังโค้ง 6 ทว่าตัดสินใจพลาดเลยไปชน López จนรถหมุนหลุดออกนอกสนามไป นั่นทำให้นักแข่งจากชิลีตกไปอยู่อันดับสุดท้าย เป็นอันฝันสลายไปในทันที ขณะเดียวกัน López ที่รู้แน่แก่ใจว่ายางเนื้อยางปานกลางของตัวเองนั้นสู้ยางเนื้ออ่อนของคนอื่นไม่ได้ ก็เริ่มยอมจำนนอย่างมีแผนการในใจ โดยปล่อยให้ de Bruin กับ Carrazza แซงไป ส่วนตัวเองก็อดใจไว้จัดหนักในช่วงท้าย
ในที่สุดแผนการเข้าพิตครั้งเดียวของ Sasaki ก็จบลงในแล็ปที่ 21 เมื่อเขาเข้าพิตไปเปลี่ยนเป็นยางเนื้ออ่อน ด้าน de Bruin ก็เช่นกัน เขาเปลี่ยนไปใช้ยางเนื้อปานกลาง ด้วยเดิมพันว่ายางเนื้ออ่อนจะเสื่อมสภาพไปก่อนการแข่งขันจบลง ส่วน Serrano ที่ออกตัวในอันดับที่ 8 แต่แอบขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2 ตอนนี้ก็กำลังท้าชิงตำแหน่งจ่าฝูงจาก Miyazono โดยมี Gallo จี้ติดมาเป็นที่ 3 ในแล็ปที่ 23 ทั้ง Miyazono, Gallo, Serrano และ Drumont ก็เข้าพิตกันเป็นขบวน ทุกคนเปลี่ยนยางครั้งสุดท้ายไปใช้เนื้ออ่อน เพื่อเตรียมห้อเต็มเหยียดเก้าแล็ปสู่เส้นชัย
แล็ปท้ายๆ ของการแข่งขันเป็นการโชว์ฟอร์มระดับท็อป นักแข่งในหกอันดับแรกขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด วิ่งกันเป็นหน้ากระดานเรียงสามบ้างสี่บ้างในบางช่วง ต่างลากกันและกันที่ความเร็วมากกว่า 320 กม./ชม. แล้วก็สลับตำแหน่งกันไปมาแทบทุกโค้ง ในแล็ปที่ 27 López ตะกายกลับมาร่วมชิงชัยด้วยอีกครั้ง เขาเข้าร่วมวงตะลุมบอนที่แถวหน้า Drumont พุ่งพรวดขึ้นไปอยู่ที่ 2 พร้อมหมายตา Serrano ที่เป็นจ่าฝูง แต่เพียงไม่นานหายนะก็บังเกิด
เมื่อเหลืออีกเพียงห้าแล็ป การแข่งขันก็กลายเป็นศึกเร็วชนเร็ว Drumont สวมหัวใจสิงห์เร่งแซงเพื่อขึ้นเป็นจ่าฝูง แต่กลายเป็นเขาทำให้ Serrano ต้องสะดุดจนรถหมุนร่วงไปอยู่อันดับสุดท้าย ขณะเดียวกัน Miyazono กับ Sasaki ที่พยายามตะเกียกตะกายกลับสู่อันดับเดิมอย่างจนตรอก ก็ชนกันจนประตูแห่งโอกาสที่นักแข่งญี่ปุ่นจะชนะการแข่งขันมีอันต้องปิดลง Gallo กับ López จึงฉวยโอกาสนั้นขึ้นไปอยู่ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ทำให้การแข่งขันกลายเป็นศึกสามเส้า
เมื่อถึงแล็ปที่ 30 Gallo ก็ลงมือ พอเข้าโค้งที่ 12 เขาก็แซง Drumont ขึ้นไปเป็นจ่าฝูงอย่างหมดจด เมื่อได้ขึ้นไปอยู่ข้างหน้าแล้วเขาก็ไม่เหลียวหลังกลับมาอีก และอยู่ ณ จุดนั้นจนเข้าเส้นชัยไปเป็นอันดับหนึ่ง Drumont ตามมาเป็นที่ 2 หลังชนกับ López ที่เส้นชัย โดยฝ่ายหลังนั้นได้ที่ 3 จากข้างทาง นี่คือฝีมือการขับอันยอดเยี่ยมของนักแข่งมือเก๋าจากสเปน ผู้ใต่เต้าจากอันดับสุดท้ายของเส้นออกตัวมาอยู่อันดับสุดท้ายบนโพเดียมจนได้
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ Gallo ยังสามารถรั้งอันดับที่ 2 ในการแข่งชิงแชมป์รายการไว้ ส่วนการเข้าเส้นชัยเป็นที่ 3 ของ López นั้นส่งเขาทะยานไปอยู่อันดับสูงสุดบนกระดานด้วยคะแนนรวมแปดคะแนน ด้าน Miyazono แม้ทำคะแนนไม่ได้ในครั้งนี้ แต่ชัยชนะในรอบที่ 1 ก็ทำให้เขายังติดสามอันดับแรกอยู่ดี
Gallo กล่าวหลังการแข่งขันว่า “แข่งครั้งนี้ตึงเครียดมากครับ! ผมต้องสู้กับทุกอย่างในสนามเลย ตอนเริ่มผมรู้สึกว่าตัวเองช้าอยู่นิดๆ นะครับ แต่ตอนนั้นก็พยายามถนอมยางไว้ แล้วกับสลิปสตรีมก็ต้องระวังตอนแซงมากๆ ดูจากทุกเหตุการณ์ในสนามแล้วนี่ ผมนึกไม่ออกเลยครับว่าตัวเองเข้าเส้นชัยมาได้ยังไง พูดอะไรไม่ออกเลยครับ”
รอบชิงชนะเลิศที่ดราก้อนเทรลนั้นตื่นตาตื่นใจไปทุกช่วงตอน ทั้งการแข่งขันที่ไม่ลดราวาศอก ฝีมือการวางแผนชั้นเซียน และช่วงเวลาต่างๆ ที่ทำเอาหัวใจแทบหยุดเต้น ทำให้นี่กลายเป็นการแข่งขันที่คู่คี่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการเลยทีเดียว เมื่อฝุ่นหายตลบและทีมต่างๆ เตรียมตัวสำหรับรอบต่อไปที่โตเกียวในเดือนกันยายน อย่างหนึ่งที่แน่ใจได้เลยก็คือ ยังอีกไกลกว่าจะได้หายตื่นเต้นกัน
Gran Turismo World Series 2024 รอบที่ 2 - Nations Cup
ผลรอบชิงชนะเลิศ
อันดับ | ประเทศ / นักแข่ง | เวลา | Points |
---|---|---|---|
1 | อิตาลี Valerio Gallo | 41'17.716 | 6 |
2 | ฝรั่งเศส Kylian Drumont | +01.655 | 5 |
3 | สเปน Coque López | +04.536 | 4 |
4 | สหรัฐอเมริกา Robert Heck | +05.043 | 3 |
5 | เนเธอร์แลนด์ Kaj de Bruin | +05.107 | 2 |
6 | ออสเตรเลีย Guy Barbara | +08.322 | 1 |
7 | ญี่ปุ่น Takuma Miyazono | +08.502 | |
8 | สหรัฐอเมริกา Calen Roach | +08.743 | |
9 | ชิลี Angel Inostroza | +09.944 | |
10 | สเปน Jose Serrano | +19.321 | |
11 | บราซิล Adriano Carrazza | +22.704 | |
12 | ญี่ปุ่น Takuma Sasaki | +1'01.265 |